วัตถุประสงค์
บล็อกนี้สร้างขึ้นเพื่อศึกษา รายวิชาประวัติศาสตร์สมัย
กรุงศรีอยุธยา

วันจันทร์ที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

การสถาปนากรุงศรีอยุธยา



การสถาปนากรุงศรีอยุธยา


     ในการศึกษาประวัติศาสตร์ทำให้เราทราบว่าบรรพบุรุษของไทยเป็นผู้สถาปนาอาณาจักรสุโขทัยขึ้นในบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนบน  และในช่วงเวลาที่อาณาจักรสุโขทัยเริ่มเสื่อมอำนาจลง  อาณาจักรอยุธยาก็สถาปนาขึ้น  และดำรงอยู่เป็นราชธานีตลอดระยะเวลา 417 ปี  จนกระทั่งกรุงศรีอยุธยาเสียอิสรภาพให้แก่พม่า  ในปี พ.ศ. 2310 แล้ว  สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้กอบกู้เอกราชของไทยคืนมา  และสถาปนากรุงธนบุรีขึ้นเป็นราชธานีแห่งใหม่  อาณาจักรธนบุรีดำรงอยู่มาได้ 15 ปี  ก็สิ้นสุดแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช  ต่อมาในปี พ.ศ. 2325  สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช  ทรงสถาปนาพระราชวงศ์จักรีขึ้นปกครองแผ่นดินและตั้งกรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานีแห่งใหม่ของไทยสืบต่อมาจนถึงปัจจุบันนี้
     อาณาจักรอยุธยาสถาปนาขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1893  และดำรงความเป็นอาณาจักรไว้ได้นานถึง 417 ปี  ย่อมต้องมีรากฐานทางสังคมและวัฒนธรรมที่เข้มแข็งพอสมควร  ดังนั้นการศึกษาประวัติศาสตร์ในสมัยอยุธยาจึงเป็นสิ่งจำเป็นต่อการศึกษาประวัติศาสตร์ของไทยเป็นอย่างยิ่ง






















พัฒนาการทางสังคมและการเมือง

พัฒนาการทางสังคมและการเมือง


นับแต่การปฏิรูปของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ พระมหากษัตริย์อยุธยาทรงอยู่ ณ ศูนย์กลางแห่งลำดับชั้นทางสังคมและการเมืองที่จัดช่วงชั้นอย่างสูง ซึ่งแผ่ไปทั่วราชอาณาจักร ด้วยขาดหลักฐาน จึงเชื่อกันว่า หน่วยพื้นฐานของการจัดระเบียบสังคมในราชอาณาจักรอยุธยา คือ ชุมชนหมู่บ้าน ที่ประกอบด้วยครัวเรือนครอบครัวขยาย กรรมสิทธิ์ในที่ดินอยู่กับผู้นำ ที่ถือไว้ในนามของชุมชน แม้ชาวนาเจ้าของทรัพย์สินจะพอใจการใช้ที่ดินเฉพาะเท่าที่ใช้เพาะปลูกเท่านั้น ขุนนางค่อย ๆ กลายไปเป็นข้าราชสำนัก (หรืออำมาตย์) และผู้ปกครองบรรณาการ (tributary ruler) ในนครที่สำคัญรองลงมา ท้ายที่สุด พระมหากษัตริย์ทรงได้รับการยอมรับว่าเป็นพระศิวะ (หรือพระวิษณุ) ลงมาจุติบนโลก และทรงกลายมาเป็นสิ่งมงคลแก่พิธีปฏิบัติในทางการเมือง-ศาสนา ที่มีพราหมณ์เป็นผู้ประกอบพิธี














การปกครอง

การปกครอง


ช่วงแรกมีการปกครองคล้ายคลึงกับในสมัยสุโขทัย พระมหากษัตริย์มีสิทธิ์ปกครองโดยตรงในราชธานี หากทรงใช้อำนาจผ่านข้าราชการและขุนนางเช่นกัน นอกจากนี้ยังมีระบบการปกครองภายในราชธานีที่เรียกว่า จตุสดมภ์ ตามการเรียกของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพอันได้แก่ กรมเวียง กรมวัง กรมคลัง และกรมนา
การปกครองนอกราชธานี ประกอบด้วย เมืองหน้าด่าน เมืองชั้นใน เมืองพระยามหานคร และเมืองประเทศราช โดยมีรูปแบบกระจายอำนาจออกจากศูนย์กลางค่อนข้างมาก












วันอาทิตย์ที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

การเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง

การเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง


การเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สองหรือ สงครามคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง เป็นความขัดแย้งทางทหารครั้งที่สองระหว่างราชวงศ์อลองพญาแห่งพม่า กับราชวงศ์บ้านพลูหลวงแห่งอยุธยา ในการทัพครั้งนี้ กรุงศรีอยุธยาซึ่งเป็นราชธานีคนไทยเกือบสี่ศตวรรษได้เสียแก่พม่าและถึงกาลสิ้นสุดลงไปด้วย เหตุการณ์ได้เกิดขึ้นเมื่อวันอังคาร ขึ้น 9 ค่ำ เดือน 5 ปีกุน ตรงกับวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2310
ยุทธนาการนี้เป็นผลพวงของสงครามพระเจ้าอลองพญาเมื่อ พ.ศ. 2303 และอุบัติขึ้นใน พ.ศ. 2308 เมื่อพม่าส่งกองทัพเข้าบุกครองอยุธยาเป็นสองทางแบบคีม ทัพพม่าพิชิตการป้องกันของฝ่ายอยุธยาที่ประกอบด้วยกำลังอันเหนือกว่าแต่ขาดการประสานงานกันได้ และเริ่มล้อมกรุงศรีอยุธยานาน 14 เดือน กระทั่งเดือนมีนาคม พ.ศ. 2310 พระเจ้าเอกทัศทรงยอมเป็นประเทศราชของพม่า แต่พม่าประสงค์ให้ยอมแพ้อย่างไม่มีเงื่อนไขในที่สุด กองทัพพม่าหักเข้าพระนครได้เป็นครั้งที่สองในประวัติศาสตร์ แล้วทำลายล้างพระนคร ทำให้ความสัมพันธ์ไทย-พม่าเสื่อมลงจนถึงปัจจุบัน











ความสัมพันธ์กับต่างประเทศ

ความสัมพันธ์กับต่างประเทศ


อาณาจักรอยุธยามักส่งเครื่องราชบรรณาการไปถวายจักรพรรดิจีนเป็นประจำทุกสามปี เครื่องบรรณาการนี้เรียกว่า "จิ้มก้อง" นักประวัติศาสตร์เชื่อว่าการส่งเครื่องราชบรรณาการดังกล่าวแฝงจุดประสงค์ทางธุรกิจไว้ด้วย คือ เมื่ออาณาจักรอยุธยาได้ส่งเครื่องราชบรรณาการไปถวายแล้วก็จะได้เครื่องราชบรรณาการกลับมาเป็นมูลค่าสองเท่า ทั้งยังเป็นธุรกิจที่ไม่มีความเสี่ยง จึงมักจะมีขุนนางและพ่อค้าเดินทางไปพร้อมกับการนำเครื่องราชบรรณาการไปถวายด้วย
พ.ศ. 2054 ทันทีหลังจากที่ยึดครองมะละกา โปรตุเกสได้ส่งผู้แทนทางการทูต นำโดย ดูอาร์เต เฟอร์นันเดส (Duarte Fernandes) มายังราชสำนักสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 หลังได้มีการสถาปนาความสัมพันธ์ฉันท์มิตรระหว่างราชอาณาจักรโปรตุเกสและราชอาณาจักรอยุธยาแล้ว ผู้แทนทางการทูตโปรตุเกสก็ได้กลับประเทศแม่ไปพร้อมกับผู้แทนทางทูตของอยุธยา ซึ่งมีของกำนัลและพระราชสาส์นถึงพระเจ้าโปรตุเกสด้วย ผู้แทนทางการทูตโปรตุเกสชุดนี้อาจเป็นชาวยุโรปกลุ่มแรกที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยก็เป็นได้ ห้าปีให้หลังการติดต่อครั้งแรก ทั้งสองได้บรรลุสนธิสัญญาซึ่งอนุญาตให้โปรตุเกสเข้ามาค้าขายในราชอาณาจักรอยุธยา สนธิสัญญาที่คล้ายกันใน พ.ศ. 2135 ได้ให้พวกดัตช์มีฐานะเอกสิทธิ์ในการค้าข้าว
ชาวต่างชาติได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นที่ราชสำนักสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ผู้ทรงมีทัศนะสากลนิยม (cosmopolitan) และทรงตระหนักถึงอิทธิพลจากภายนอก ได้มีการสถาปนาความสัมพันธ์เชิงพาณิชย์ที่สำคัญกับญี่ปุ่น บริษัทการค้าของดัตช์และอังกฤษได้รับอนุญาตให้จัดตั้งโรงงาน และมีการส่งคณะผู้แทนทางการทูตของอยุธยาไปยังกรุงปารีสและกรุงเฮก ด้วยการธำรงไว้ซึ่งความสัมพันธ์เหล่านี้ ราชสำนักอยุธยาได้ใช้ดัตช์คานอำนาจกับอังกฤษและฝรั่งเศสอย่างชำนาญ ทำให้สามารถเลี่ยงมิให้ชาติใดชาติหนึ่งเข้ามามีอิทธิพลมากเกินไป



















การเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่หนึ่ง


การเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่หนึ่ง 

เริ่มตั้งแต่กลางคริสต์ศตวรรษที่ 16 ราชอาณาจักรอยุธยาถูกราชวงศ์ตองอูโจมตีหลายครั้ง สงครามครั้งแรกคือ สงครามพระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ เมื่อ พ.ศ. 2091-92 แต่ล้มเหลว การรุกรานครั้งที่สองของราชวงศ์ตองอู หรือเรียกว่า "สงครามช้างเผือก"สมัยพระมหาจักรพรรดิ เมื่อ พ.ศ. 2106 พระเจ้าบุเรงนองทรงบังคับให้สมเด็จพระมหาจักรพรรดิยอมจำนน พระบรมวงศานุวงศ์ทรงถูกพาไปยังกรุงอังวะ และสมเด็จพระมหิทรา พระราชโอรสองค์โต ทรงได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าประเทศราช เมื่อ พ.ศ. 2111 ราชวงศ์ตองอูรุกรานอีกเป็นครั้งที่สาม และสามารถยึดกรุงศรีอยุธยาได้ในปีต่อมา หนนี้พระเจ้าบุเรงนองทรงแต่งตั้งสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชเป็นเจ้าประเทศราช











อาณาจักรอยุธยา


อาณาจักรอยุธยา

อาณาจักรอยุธยา เป็นอาณาจักรของชนชาติไทยในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาในช่วง พ.ศ. 1893 ถึง พ.ศ. 2310 มีกรุงศรีอยุธยาเป็นศูนย์กลางอำนาจหรือราชธานี อาณาจักรอยุธยานับว่าเจริญรุ่งเรืองจนอาจถือได้ว่าเป็นอาณาจักรที่รุ่งเรืองมั่งคั่งที่สุดในภูมิภาคสุวรรณภูมิ ทั้งยังมีความสัมพันธ์ทางการค้ากับหลายชาติ จนถือได้ว่าเป็นศูนย์กลางการค้าในระดับนานาชาติเช่น จีน เวียดนาม อินเดีย ญี่ปุ่น เปอร์เซีย รวมทั้งชาติตะวันตก เช่น โปรตุเกส สเปน ดัตช์ (ฮอลันดา) และฝรั่งเศส ซึ่งในช่วงเวลาหนึ่งเคยสามารถขยายอาณาเขตประเทศราชถึงรัฐฉานของพม่า อาณาจักรล้านนา มณฑลยูนนาน อาณาจักรล้านช้าง อาณาจักรขอม และคาบสมุทรมลายูในปัจจุบัน